Loading...

บทความคุณธรรม

การส่งเสริม "วินัย"

“วินัย” หมายถึง แบบแผนความประพฤติหรือข้อปฏิบัติที่ทุกคนในสังคมต้องถือปฏิบัติให้ถูกต้อง ด้วยความจริงใจและตั้งมั่นในการประพฤติปฏิบัติให้เป็นไปตามบทวินัยที่กำหนด ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของคนในสังคมเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อสังคมและประเทศชาติ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานหลักคิดเกี่ยวกับ “วินัย” ในพระบรมราโชวาทในโอกาสต่างๆ ๓ ประการ คือ

ประการแรก “วินัย” เป็นพื้นฐานรองรับวิชาความรู้ ช่วยให้บุคคลทรงคุณความรู้อยู่ได้ และส่งเสริมให้สามารถนำความรู้มาปฏิบัติการให้เกิดประโยชน์ได้ จึงต้องมีความเข้าใจรักษาระเบียบวินัยนี้ซึ่งจะช่วยนำประเทศชาติสู่ความวัฒนาสถาพร

ประการที่สอง คนที่มีความรู้ ความคิด สติปัญญา จำเป็นจะต้องใช้ “วินัย” บังคับให้ทำความดี ความเจริญ ให้แก่ตน และเผื่อแผ่ความคิดความเจริญนั้น แก่ผู้อื่นพร้อมกันไปด้วย จึงจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้

ประการที่สาม “วินัย” มี ๒ ลักษณะ คือ วินัยที่ต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่กำหนด และวินัยในตนเองหรือวินัยประจำใจที่ทุกคนต้องบัญญัติขึ้นด้วยความคิดของตนเอง จึงจะสามารถนำมาควบคุมการประพฤติปฏิบัติของตนเองอย่างจริงใจ ก่อให้เกิดความสุข ความเจริญที่แท้จริงและมั่นคง

จากหลักคิดที่ได้รับพระราชทานดังกล่าว จะเห็นว่า “วินัย” เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สังคมและประเทศชาติของเรามีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง

ด้วยเหตุนี้ การสร้าง “วินัย” ให้กับคนในสังคม จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้นำ

ในสังคมทุกระดับ ต้องส่งเสริมให้บุคคลที่อยู่ในปกครองมีวินัยและป้องกันมิให้กระทำผิดวินัย

ดังนี้

๑) รักษาวินัยของตนเองในฐานะผู้นำในสังคม เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับผู้อยู่ในปกครอง

๒) ปฏิบัติตนต่อผู้ถูกปกครองอย่างมีคุณธรรมและเที่ยงธรรม และเสริมสร้างแรงจูงใจให้ผู้อยู่ในปกครองดำรงตนเป็นคนดีมีคุณธรรมของสังคม

๓) เสริมสร้างและพัฒนาให้ผู้อยู่ในปกครองมีวินัยในตนเอง และป้องกันมิให้ผู้อยู่ในปกครองกระทำผิดวินัย ตลอดจนดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ที่กระทำผิดวินัยอย่างเคร่งครัด


ปรับปรุงจาก “คู่มือผู้บังคับบัญชาในการดำเนินการด้านวินัยของผู้ใต้บังคับบัญชา”, คณะกรรมการข้าราชการรัฐสภา, ๒๕๖๑
พล.อ.อ. วีรวิท คงศักดิ์
๒๒ มกราคม ๒๕๖๓

จำนวนผู้เข้าชม : 16813

กลับหน้าแรก