Loading...

บทความคุณธรรม

เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี “วิถีพอเพียง”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัส เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑ ความว่า

“...พอเพียง มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่าพอ ก็พอเพียงนี้ก็พอแค่นั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิดอันนี้ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่าพอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมี มีมากอาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น...”

จากพระราชดำรัสองค์นี้ จะเห็นได้ว่า แก่นแท้ของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” คือ การมีความคิดพอเพียง ด้วยการ “พอประมาณ ซื่อตรง ไม่โลภอย่างมาก”

“ความไม่โลภ” เป็นคุณค่าที่สำคัญซึ่งสามารถลดการทุจริตและประพฤติมิชอบได้ จึงควรได้รับการปลูกฝังให้เป็น“จิตสำนึก”ของคนไทย โดยเฉพาะ“เจ้าหน้าที่ของรัฐ”ที่ได้รับอำนาจรัฐตามกฎหมายเพื่ออำนวยความสุขให้กับประชาชน ต้องใช้อำนาจรัฐเพื่อผลประโยชน์ของชาติอย่างถูกต้องเป็นธรรมเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จึงน้อมนำ“ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มาเป็นหลักการสำคัญที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนต้องได้รับการปลูกฝังเป็นหลักคิด หรือ Mind set เพื่อยึดถือปฏิบัติจนเป็น “วิถีชีวิต” โดยกำหนดในกลยุทธ์ ๑.๕ ดังนี้

“ปลูกฝัง “จิตพอเพียง” เพื่อต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ เพื่อเป็นการลดความโลภที่จะส่งผลให้สามารถปฏิเสธการกระทำทุจริตในทุกรูปแบบผ่านกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม และเสริมสร้างคุณธรรมความซื่อตรง (Integrity) เพื่อดำรงความเชื่อถือ ศรัทธา และไว้วางใจซึ่งกันและกันในสังคมไทย โดยแสวงหาความร่วมมือกับหน่วยงานเสริมสร้างคุณธรรม”

“จิตพอเพียง” หมายถึง การมีความคิดหรือ “คุณธรรม” พอเพียง ทำให้การประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของ “จริยธรรมความพอเพียง” จนเป็น “วิถีชีวิต”

ส่วนความหมายของ “พอเพียง” อย่างสั้นและชัดเจนนั้น สมาคมสุโขทัยธรรมาธิราชได้อธิบายในเอกสารเผยแพร่เพื่อรณรงค์สร้างคุณธรรมพอเพียงว่า

“ความพอเพียง” หมายถึง “ไม่โลภมาก พอใจในความมีอยู่ เป็นอยู่ ไม่ฟุ้งเฟ้อ มีความสุขกับความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายตามอัตภาพ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อาจจะมีทรัพย์สินหรือสิ่งของมูลค่าสูงได้ แต่ต้องไม่เป็นการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น”

จากการประเมินผลการสร้าง “จิตพอเพียง” ของหน่วยงานของรัฐในรอบปี ๒๕๖๒ ยังไม่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม จึงขอเสนอ โครงการเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี วิถี “พอเพียง” ในปี ๖๓ โดยมี ๓ กิจกรรม ดังนี้


กิจกรรมแรก คิดอย่าง “พอเพียง” เพื่อปลุกจิตสำนึกคุณธรรมความ “พอเพียง” ของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคน และรณรงค์ให้ยึดถือปฏิบัติจนเป็น “วิถีชีวิต” โดยเชื่อมโยงกับแผนแม่บทส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๕๙-๒๕๖๔) ที่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยปฏิบัติอยู่

แผนแม่บทฯ ฉบับดังกล่าว ได้เชิญชวนให้หน่วยงานของรัฐ ชุมชน และองค์กรต่างๆ รณรงค์ส่งเสริมคุณธรรมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมในการแสวงหาคุณธรรมเป้าหมายและร่วมกันกำหนด “ปฏิญญาคุณธรรม” ซึ่งกำหนดว่า พวกเราจะทำอะไรและไม่ทำอะไร (Do & Don’t) ตามหลักคิด “ระเบิดจากข้างใน”

ทั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรยึดมั่นและปฏิบัติตามคุณธรรมเป้าหมายจนเป็นวิถีชีวิต โดยแนะนำให้น้อมนำค่านิยมที่สังเคราะห์มาจากพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ มาสู่การปฏิบัติ ๔ ประการ คือ “พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา” 

ในกิจกรรมนี้ ได้เสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐบริหารราชการแผ่นดินตามหลัก “พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้มกัน” ด้วยการใช้ “ความรู้คู่คุณธรรม” เพื่อกล่อมเกลาให้คนในองค์กรเห็นคุณค่าของการทำความดี โดยคิดและตัดสินใจปฏิบัติตามค่านิยมพอเพียง ซึ่งจะทำให้ข้าราชการเห็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

สำหรับเป้าหมายของกิจกรรมนี้ คาดหวังว่า หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานภายใน จะได้รับการยกย่องจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็น “องค์กรส่งเสริมคุณธรรมพอเพียง” ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๐ ในสิ้นปี ๒๕๖๓

กิจกรรมที่สอง พึ่งตนเอง เป็นการรณรงค์ปรับเปลี่ยนลักษณะนิสัยของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ดำรงตนบนพื้นฐานของความ “พออยู่ พอกิน” เหมาะสมกับฐานะของตนเองตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ด้วยการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรสู่ความพอเพียง เพื่อลดหนี้สินให้กลับมาสู่ระดับพึ่งตนเอง โดยจัดให้มีกิจกรรมจัดทำบัญชีครัวเรือน และกิจกรรมกลุ่มระดมสมอง “ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้” เพื่อให้นำไปสู่การปฏิบัติด้วยความสมัครใจ

สำหรับเป้าหมายของกิจกรรมนี้ คาดหวังว่า บุคลากรในภาครัฐร้อยละ ๘๐ มีฐานะ “พออยู่ พอกิน” พึ่งตนเองได้ และมีหนี้สินไม่เกินร้อยละ ๗๐ ของรายได้สุทธิ

กิจกรรมที่สาม ลดความฟุ้งเฟ้อและฟุ่มเฟือย เป็นการปรับการบริหารงานในหน่วยงานของรัฐด้วยความ “พอเหมาะ พอดี” ด้วยการลด ละ เลิก วัฒนธรรม ประเพณีภายในหน่วยงานที่สะท้อนความฟุ่มเฟือยในการใช้งบประมาณของทางราชการ รวมถึงลดการรับของขวัญ ของกำนัล อันเป็นการเบียดเบียนบุคคลอื่นให้เหลือเท่าที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นแบบอย่างในการลดความโลภและดำรงตนอยู่ในความ “พอมี พอใช้” ด้วย

สำหรับเป้าหมายของกิจกรรมนี้ คาดหวังว่า หน่วยงานของรัฐจะสามารถลดการใช้งบประมาณค่าใช้สอยด้านพิธีการลงร้อยละ ๑๐ และมีการประกาศงดการงดรับของขวัญ ของกำนัล โดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาต้องไม่รับสิ่งของจากลูกน้อง เว้นแต่เป็นของบริโภคที่หมดสิ้นไป (Consumable Goods) และมีมูลค่าเล็กน้อยเท่านั้น

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดแบบบูรณาการในโอกาสเข้าเฝ้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๖ ว่า

“...ภายใน ๑๐ ปี เมืองไทยน่าจะเจริญ ข้อสำคัญคือ ต้องหยุดทุจริตให้สำเร็จและไม่ทุจริตเสียเอง..”

พระบรมราโชวาทองค์นี้เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า “การไม่ทุจริตเสียเอง” ของผู้นำองค์กรเป็นจุดสำคัญของการ “หยุด” ทุจริต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ เมื่อผู้นำทุกระดับเป็นแบบอย่างของความ “พอเพียง” เท่านั้น

--------------

เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดี “วิถีพอเพียง”
โดย พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์, ปปร.๑๑
จากวารสารสมาคมแห่งสถาบันพระปกเกล้า, ๓๐ ตุลาคม ๒๕๖๒

ขอบคุณภาพจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

จำนวนผู้เข้าชม : 6323

กลับหน้าแรก